“เกาะยาวใหญ่ ไม่ไปไม่รู้”ถ้าไม่ลองมาสัมผัสดู แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าที่นี่…มีดีอะไร ?
เมื่อการท่องเที่ยวธรรมชาติเชิงอนุรักษ์เริ่มได้ความนิยมมากขึ้น และเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยว และคนเมืองอย่างเราควรจะได้เห็นถึงความสำคัญ รวมทั้งร่วมกันอนุรักษ์เพื่อให้ธรรมชาติเหล่านี้อยู่กับเราไปนานแสนนาน
การเดินทางมุ่งหน้าสู่ ‘ม า ห า ส มุ ท ร’ ของพวกเราจึงเริ่มต้นขึ้น…
ถือเป็นการเดินทางสู่แดนไกล จากเมืองหลวงอันวุ่นวาย เพื่อมาเรียนรู้ธรรมชาติที่แสนสงบ และยิ่งใหญ่ใจกลางทะเลอันดามันของไทย ณ เกาะยาวใหญ่ จ.พังงากับแคมเปญสุดสร้างสรรค์ ‘EARTH APPRECIATION ครั้งที่ 03 : มาหาสมุทร’ ที่จัดขึ้นโดยกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ประเทศไทย ได้รับความร่วมมือจาก องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และ เดอะ คลาวด์ รวมถึงชุมชนเกาะยาวใหญ่ ที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้บริโภคได้เข้าใจถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเองครับ
และทริปนี้ผมจะพาทุกคนไปสัมผัสกับธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตท้องถิ่นของชาวประมงที่เกาะยาวใหญ่มีเสน่ห์ที่น่าหลงใหล นอกจากนี้ผมคงต้องบอกเลยว่าบนเกาะยาวใหญ่จริงๆแล้ว ไม่ได้มีแค่น้ำทะเลนะครับบบบ แต่ยังมีป่าชายเลน น้ำตก และมีการทำการเกษตรต่างๆ อย่างนาข้าวอีกด้วย
แต่ถึงแม้จะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่กันแบบพออยู่พอกินแต่ไม่น่าเชื่อเลยจริงๆ ว่าเกาะยาวใหญ่แห่งนี้ ก็ยังหนีปัญหาขยะพลาสติกที่มากับทะเลไม่พ้น และนี่เเหละครับคือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงต้องออกเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาเพื่อเรียนรู้และช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติของที่นี่ เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด แล้วผมเองก็จะขอนำเรื่องราวดีๆ มาบอกต่อให้กับทุกคนให้ได้ช่วยกันเป็นพลังเล็กๆ ในการได้ดูแลรักษาธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ของเรากันนะครับ…

หลังจากที่เราเดินทางจากกรุงเทพฯ กันแล้ว เราก็จะเดินทางต่อไปยังเกาะยาวใหญ่ จ.พังงา กันด้วยทางเรือ ที่ท่าเรือบางโรง จ.ภูเก็ต

และเเล้วเราก็มาถึงเกาะยาวใหญ่ จุดหมายปลายทางของเรากันแล้วววว ซึ่งเราจะเดินทางมาทำกิจกรรมและเรียนรู้ธรรมชาติในที่แห่งนี้กันครับ


แต่ก่อนที่เราจะออกไปทำกิจกรรมรอบๆเกาะยาวใหญ่ร่วมกัน ก่อนอื่นเราจะมาเริ่มต้นทำความรู้จักกัน รวมทั้งเหล่าวิทยากร ที่จะมาร่วมให้ความรู้กับเราในวันนี้กันครับ
โดยมีวิทยากรหลัก คือ ‘บังยา – ดุสิทธิ์ ทองเกิด’ ชาวเกาะยาวใหญ่ผู้ตั้งใจอนุรักษ์ทะเล ซึ่งจะมาบอกเล่าเรื่องระบบนิเวศของเกาะยาวใหญ่ และ ‘บังสอม – ถาวร คงบำรุง’ ผู้ที่จะพาเราไปสำรวจป่าชายเลน, ระบบนิเวศชายหาด และ ระบบนิเวศหญ้าทะเล


ได้เวลาที่เราจะมาทำความรู้จักกับ #เกาะยาวใหญ่ กันให้มากขึ้นสักหน่อยดีมั้ยครับ ?
เกาะยาวใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าง 3 จังหวัด คือ จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา และถือเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของทะเลฝั่งอันดามันเลยทีเดียว แล้วยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากครับ
ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่ก็จะทำอาชีพประมงโดยเน้นการทำประมงควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเกาะ ประกอบกับวิถีชีวิตของชาวชุมชนท้องถิ่นที่มีความเรียบง่าย สงบสุข จึงทำให้ที่เกาะยาวใหญ่นี้มีเสน่ห์ชวนให้มาเยือน และที่สำคัญเลยคือ ทะเลที่นี่สวยมากกกก เป็นสีฟ้าใส ไม่แพ้ทะเลใดๆ ในแถบนี้เลย เรียกว่าไม่มาถึงที่ ก็ไม่รู้เลยครับว่าสวยขนาดนี้

ซึ่งเราก็จะมาเดินสำรวจระบบนิเวศชายหาดกัน ณ บริเวณ แหลมหาด

ต่อมาเราจะไปสำรวจแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำในป่าชายเลนกันครับ


ป่าชายเลนนั้น ถือว่าเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่ามากๆของสัตว์ทะเลตัวเล็กเลยนะครับ เพราะป่าชายเลนจะดักตะกอนจากป่า ซึ่งตะกอนเหล่านี้ก็มีประโยชน์ต่อการสร้างอาหารของแบคทีเรีย และแพลงก์ตอนจากพืช-ใบไม่ที่เน่าเปื่อยอยู่ใต้น้ำ

เรียนรู้วิถีประมงแบบยั่งยืนไปกับชาวบ้านที่เกาะยาวใหญ่ ทุกคนน่ารักเป็นกันเองมากครับ

รอยยิ้มและภาพน่ารักๆ ของเด็กน้อยที่เกาะยาวใหญ่

ต่อไปเราก็ได้มาเรียนรู้การประมงพื้นบ้านแบบปักษ์ใต้ และได้ลองตกปลาทรายด้วยเบ็ดไม้ระกำกันดูสักหน่อย นี่ก็มีชาวบ้านมาร่วมตกปลากับพวกเราด้วย


ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ ก็มีพี่เรย์ แมคโดนัลด์ มาร่วมเรียนรู้ธรรมชาติไปกับพวกเราด้วย เรียกว่าพี่เรย์นี่คือผู้ที่เป็น IDOL ในเรื่องของการท่องเที่ยวเดินทางสำหรับใครหลายๆคน รวมทั้งผมด้วยเช่นกันนะครับบบบ


หลังจากเสร็จกิจกรรมในวันนี้กันแล้ว เราก็มุ่งหน้ากลับเข้าสู่ที่พัก เพื่อพักผ่อนตามอัธยาศัย และทานอาหารเย็นร่วมกัน โดยเราจะได้ชิมอาหารทะเลสดๆ และหอยชักตีนซึ่งเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของที่นี่เลย

หลังจากนั้นเราก็มาร่วมกันนั่งพูดคุยถึงเรื่องการพัฒนาเกาะยาวใหญ่อย่างยั่งยืนกับ ‘พี่ธนู แนบเนียน’ ผู้อำนวยการองค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน ก่อนที่เราจะแยกย้ายกันเข้านอน แล้วมาพร้อมลุยกันต่อกับกิจกรรมในวันที่พรุ่งนี้กันครับ


และสำหรับกิจกรรมแรกของวันนี้ก็คือ เราจะไปพายเรือคายัคชมความสมบูรณ์ของป่าโกงกางกัน โดยมีคุณจรัสพงศ์ ถิ่นเกาะยาว มาแนะนำเส้นทางในการพายเรือ และคุณเหม ถิ่นเกาะยาว เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวของป่าโกงกางให้พวกเราได้ฟังกัน

มีความ Adventure กันหน่อยครับบบบบ 5555+ แต่ละคนท่าทางสนุกและชอบมาก ทั้งได้ความรู้แล้วก็เพลินดีจริงๆ
ซึ่งระหว่างที่เราพายเรือผ่านป่าชายเลนไป ก็อยากให้ทุกคนได้ลองสังเกตไปรอบๆ ก็จะได้พบกับปลาตีน, ปูก้ามดาบ, ลิงแสม หรือแม้แต่ตัวเงินตัวทอง แต่ถ้าเราลองแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้า ก็จะเห็นนกกระเต็นเอย นกนางเขียนเอย บินอยู่ขวักไขว่ไปมา
ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสัญญานที่บอกให้เรารู้เลยว่า ป่าโกงกางที่นี่อุดมสมบูรณ์จริงๆ ใครจะไปคิดครับ ว่าเกาะกลางทะเลจะมีป่าชายเลนที่สวย และสมบูรณ์ขนาดนี้



ทำกิจกรรมกันมากว่าครึ่งค่อนวัน หมดพลังงานไปกับการพายเรือมาพอสมควรแล้ว ได้เวลาที่เราจะมาเติมพลัง แวะพักทานอาหารกลางวันกัน นี่พี่ๆชาวบ้านเกาะยาวใหญ่ ก็มาเผาปลาให้เราทานกันแบบสดๆเลย

ได้อารมณ์เหมือนมาแคมป์ปิ้งเลยนะครับเนี่ยยยย ทานปลาเผาเองห่อใบไม้แบบนี้ และไม่ใช้จานพลาสติก จะได้ไม่เป็นขยะในทะเลต่อไป

หลังจากที่เราทานอาหารกันจนอิ่มท้องแล้ว ต่อไปเราก็จะมาทำความเข้าใจและเรียนรู้เรื่องปัญหาขยะมหาสมุทร ที่เริ่มจะเป็นปัญหาสำคัญอันเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่ก้าวหน้าขึ้น หรือการขยายตัวของชุมชน
และสาเหตุที่สำคัญที่สุด คือระบบจัดการขยะที่ยังไม่สมบูรณ์นัก ซึ่งในพื้นที่เกาะยาวใหญ่นี้ ทางโคคา-โคลา และ IUCN ก็กำลังทำการศึกษาเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องการจัดการขยะอยู่ครับ ช่วงนี้ก็ได้เรียนรู้การคัดแยกขยะแต่ประเภท เพื่อการจัดการที่ถูกวิธีด้วยล่ะครับ ซึ่งการแยกขยะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเราทิ้งรวมๆ ไป ไม่แยกขยะให้ถูกต้อง จะทำให้การจัดการขยะพลาสติกเป็นไปได้ยาก เพราะเจ้าขยะพลาสติกพวกนี้ จะไม่ถูกนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้องเหมาะสมนั่นเองครับ

ช่วยกันละไม้คนละมือในการเก็บขยะ ลองดูซิครับว่าพื้นที่นี้มีขยะพลาสติกเยอะขนาดไหน เจ้าขยะพลาสติกที่เราพบตามชายฝั่งที่นี่ บางส่วนก็ถูกพัดมาจากทั้งจังหวัดรอบๆ ในประเทศไทยด้วยกันเอง หรือแม้จากประเทศใกล้เคียงก็มีครับ
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ผมอยากให้ทุกคนได้รับรู้กันก็คือ ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกทางทะเลมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ถึง 1.03 ล้านตัน (ข้อมูลโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Environment Programme)
แล้วปริมาณขยะพลาสติกมหาศาลขนาดนี้ ถ้าสัตว์ทะเลเผลอกินเข้าไป คงจะเกิดเรื่องน่าเศร้า และความสูญเสียตามมาอีกมากมายเลยทีเดียว TT



ต่อไปเราก็จะไปเก็บหอยชักตีนริมฝั่งและปล่อยลูกหอยชักตีนกันบริเวณแหล่งอนุบาลชายหาด


สิ้นสุดกิจกรรมในวันนี้กันแล้ว เราก็มาทานอาหารเย็นที่ปรุงด้วยวัตถุดิบสดใหม่ มีแนวคิดมาจากระบบนิเวศทางทะเล โดย เชฟอุ้ม – คณพร จันทร์เจิดศักดิ์ แห่งร้านตรัง โคอิ ถือเป็นการได้มาเรียนรู้เรื่องทะเลผ่าน ‘ความรู้กินได้’
โดยใช้วัตถุดิบจากท้องทะเล และท้องถิ่นที่หลากหลาย ซึ่งบางอย่างเราก็อาจจะไม่เคยเห็น และไม่เคยทานมาก่อน อาจจะดูแปลกตาสำหรับคนต่างถิ่นแบบเราๆ แต่เมื่อได้ลองทานเข้าไปทั้งอร่อย ทั้งมีเรื่องราวที่น่าสนใจอยู่ในอาหารจานเด็ดเหล่านี้จริงๆ

เช้าวันสุดท้ายก่อนที่เราจะต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯกัน บอกแล้วครับว่าทะเลที่เกาะยาวใหญ่เนี่ย สวยมากๆ ยิ่งในยามพระอาทิตย์กำลังขึ้นแบบนี้ก็ยิ่งสวย

ก่อนที่เราจะเดินทางกลับกันนั้นเราก็จะได้มาเเวะเดินชมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขึ้นชื่อ และหลากหลาย ให้ได้ซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝากกลับไป และที่สำคัญเลยคือได้ช่วยสนับสนุนชาวบ้านกันอีกด้วยนะครับ

และแล้วก็ได้เวลาที่เราจะต้องบอกลาเกาะยาวใหญ่แห่งนี้กันไปแล้วววว ถือเป็นการเดินทางที่แสนประทับใจ บอกเลยว่าได้ความรู้กลับไปเต็มเปี่ยมมมม ซึ่งผมเองก็อยากให้ทุกคนได้มาลองมีประสบการณ์แบบนี้บ้างเช่นกัน ซึ่งแน่นอนครับว่าทางกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ประเทศไทย จะต้องมีจัดขึ้นอีกในครั้งต่อๆไป ก็สามารถคอยติดตามข่าวสารกันได้นะครับ
จริงๆ แล้ว ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่คิดว่าแค่ทิ้งขยะโดยไม่แยกก่อน จะส่งผลไปจนถึงปัญหาขยะทะเลเลยจากนี้ก็คงเริ่มแยกขยะอย่างจริงจังให้เป็นนิสัยแล้วล่ะครับ
เพราะทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ใช่หน้าที่แค่ของใครตามลำพัง อย่ามองว่าสิ่งเหล่านั้นคือเรื่องไกลตัว แล้วถึงแม้สถานที่เหล่านั้น จะไม่ใช่ท้องถิ่นที่เราอยู่อาศัย ก็อย่าปล่อยให้ธรรมชาติต้องพังลงไปต่อหน้าต่อตา โดยไม่ได้ทำอะไรเลย
สุดท้ายแล้วมันคือหน้าที่ของทุกๆคนจริงๆครับ ที่ควรจะช่วยกันสร้างจิตสำนึกที่ดี ถึงแม้เราจะแค่บังเอิญได้มาเยือน หรือมาเที่ยวเพียงชั่วครู่ชั่วคราว แต่เราก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เริ่มจากแยกขยะ ทำได้ทุกที่ทุกเวลาที่มีโอกาสนะครับ
#CocaCola#worldwithoutwaste#TheCloud#มาหาสมุทร#เกาะยาวใหญ่ไม่ไปไม่รู้#คนหลงทาง